ผู้เขียน หัวข้อ: 22ปี ที่จากไป สืบ นาคะเสถียร คนดีไม่ม  (อ่าน 4436 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ jubu

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 376
  • มงกุฎ: 3
  • เพศ: หญิง
    • ดูรายละเอียด
22ปี ที่จากไป สืบ นาคะเสถียร คนดีไม่ม
« เมื่อ: กันยายน 01, 2012, 03:24:55 PM »


ป่าห้วยขาแข้งก่อนการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร (2506-2533) ป่าห้วยขาแข้งเป็นที่รับรู้กันในหมู่คนเดินป่าล่าสัตว์ และทำไม้ ว่าเป็นป่าดิบที่แทบไม่มีร่องรอยมนุษย์ตั้งถิ่นฐาน มีอาณาเขตกว้างใหญ่ต่อเนื่องกับป่าทุ่งใหญ่เมืองกาญ เมืองตาก ออกไปถึงพม่า เป็นฉากสำคัญในมหานิยายผจญภัยเรื่องเพชรพระอุมา (คุณพนมเทียนเขียนเพชรพระอุมาตั้งแต่ช่วง 2507 ซึ่งอยู่ในช่วงการจัดตั้องเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาจบภาคสองในปี 2533 นี่เอง) มีสัตว์ป่าชุกชุมมาก และแต่โดยรอบก็มีการให้เป็นพื้นที่สัมปทานไม้หลายพื้นที่


วันที่ 29 สิงหาคม 2508 คุณอุดม ธนัญชยานนท์สามารถนำภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มาเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ การสำรวจพบควายป่า สัตว์ที่ทุกคนเชื่อว่าหมดไปแล้วจากเมืองไทย (นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เขียนไว้ในนิตยสารนิยมไพร เมื่อ 2501 ว่า ควายป่าตัวสุดท้ายอาจจะถูกยิงที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2451 หรือเกือบห้าสิบปีมาแล้ว) ทว่าได้เพียงภาพซากของมันเพราะพรานเพิ่งจะเด็ดชีพมันไปเสียก่อน คุณอุดมได้เขียนรายงานสำรวจแก่กรมป่าไม้ว่า “..สัตว์ป่าในป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนและปริมาณมาก มีสัตว์ที่พบเห็นได้ยาก เช่น แรด จากการสอบถามได้ความว่ายังอาจมีอยู่ ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง ควายป่า กระจง สมเสร็จ หมี ชะนี ลิง ค่าง เสือ หมูป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกยูง นกเงือก ฯลฯ...” ซึ่งในรายงานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาการล่าสัตว์ โดยแบ่งนายพรานออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มล่าสัตว์เป็นอาชีพ ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดใกล้เคียง ใช้รถยนต์หรือช้างเป็นพาหนะ ทำให้สามารถล่าเป็นเวลานาน 1-2 สัปดาห์ นิยมล่าในฤดูแล้ง อีกกลุ่มเป็นพรานสมัครเล่น เป็นพ่อค้า คหบดี ใช้อาวุธคุณภาพสูง ยิงสัตว์ป่าเพื่ออวดฝีมือ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นชาวบ้านล่าสัตว์เป็นอาหาร

ในพ.ศ. 2513 คณะสำรวจกรมป่าไม้นำโดยคุณผ่อง เล่งอี้ พร้อมทั้งช่างภาพชื่อ คุณชวลิต เนตรเพ็ญ เข้าสำรวจและสามารถถ่ายภาพยนต์ควายป่าทั้งฝูงรวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ ทั้งฝูงวัวแดง นกยูง กวาง นำมาฉายให้คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าดู ตัวคุณผ่องเคยกล่าวว่า “ ...ตื่นเต้นมากที่เห็นฝูงควายป่าเป็นครั้งแรกในชีวิต ตัวของมันใหญ่มาก เวลามันวิ่งแผ่นดินสะเทือน...”

จนกระทั่งเดือนกันยายน 2515 กรมป่าไม้จึงได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำดับที่ 5 ของประเทศไทย มีพื้นที่ในเวลานั้น 1,019,375 ไร่ (ประมาณ 1,631 ตารางกิโลเมตร ขนาดใหญ่เท่าๆ กับพื้นที่กรุงเทพมหานคร) นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำขึ้นเป็นสถานีวิจัยสัตว์ป่าแห่งแรกเมื่อ 2519

ระหว่างการจัดตั้งเขตฯ นี้เอง กรมป่าไม้ให้สัมปทานทำไม้กระยาเลย (ไม้อื่นๆที่ไม่รวมไม้สัก) แก่บริษัทไม้อัดไทย ในพื้นที่ป่าติดกับทิศเหนือ ตะวันออก และใต้ มีเนื้อที่รวมประมาณ 9 แสนไร่ (ใกล้เคียงกับพื้นที่เตรียมประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า)

แม้จะถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและป่าห้วยขาแข้งได้รับประกันระดับหนึ่งว่าจะไม่ถูกกลายเป็นพื้นที่สัมปทานไม้ ซึ่งมีความเข้มข้นมากในช่วง 2516-2525 (ในช่วงนั้นป่าประเทศไทยถูกตัดหมดไป ประมาณ 66,499 ตารางกิโลเมตร เทียบได้เป็น 26 เท่าของพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งในเวลานั้น) แต่ป่าห้วยขาแข้งก็ถูกคุกคามจากการล่าสัตว์และไฟป่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ชุมชนขยายตัวตามการสัมปทานไม้เข้ามาแทบจะประชิดผืนป่าห้วยขาแข้ง ในช่วง พ.ศ. 2521 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ถูกพรานยิงบาดเจ็บในบริเวณป่าสัมปทานของบริษัทไม้อัดไทย

จริงๆ แล้ว การทำป่าสัมปทาน ไม่น่าส่งผลกระทบมากมายเพราะต้องปลูกป่าทดแทน ป้องกันการบุกรุกของชาวบ้าน แต่ในการปฏิบัติที่นี่ในเวลานั้น เช่นในพื้นที่ตอนที่ 1 ลุ่มห้วยทับเสลาพอทำไม้เสร็จกลับมีชาวบ้านเข้ามาตั้งหมู่บ้าน หน่วยงานราชการเองก็ส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยสหกรณ์นิคมทับเสลาเพื่อรองรับชุมชนใหม่ เป็นต้น จากการสำรวจในขณะนั้น พบว่าป่าต้นน้ำทับเสลายังคงความสมบูรณ์มาก ป่าสัมปทานทางตอนใต้เป็นที่อยู่อาศัยของควายป่า จึงมีการขอผนวกพื้นที่จากบริษัทไม้อัดไทย โดยให้เหตุผลว่าบริษัทไม่มีมาตรการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ในขณะเดียวกัน กรมชลประทานยังได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างเขื่อนทับเสลาในพื้นที่ป่าสัมปทานตอนที่ 10 แต่ที่สุดแล้ว ฝ่ายอนุรักษ์สามารถต่อรองจน พ.ศ. 2529 สามารถผนวกพื้นที่เพิ่มเติมทางด้านทิศตะวันออกและใต้ รวมมีพื้นที่ 1,609,150 ไร่ (2,574.64 ตารางกิโลเมตร) โดยมีเงื่อนไขว่า กรมป่าไม้ต้องช่วยจัดสรรป่าแห่งอื่นทดแทนให้ด้วย

ปัญหาสัมปทานกลับมาคุกคามห้วยขาแข้งอีกครั้ง ในพ.ศ. 2531 เนื่องจากกรมป่าไม้ไม่สามารถหาป่าให้ไม้อัดไทยทดแทนที่ผนวกได้ กรมป่าไม้จึงให้พื้นที่บางส่วนทางตอนใต้สัมปทานคืนแก่ไม้อัดไทย เป็นพื้นที่เกือบสามแสนไร่

ในปี 2531 เป็นปีกระแสการอนุรักษ์มาแรงจากการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งสืบ นาคะเสถียรเข้าร่วมและเป็นกำลังสำคัญทางวิชาการที่คัดค้านจนสำเร็จ เมื่อเกิดปัญหากับห้วยขาแข้ง สืบซึ่งขณะนั้นเป็นข้าราชการในกรมป่าไม้เข้านำการคัดค้านเอง จนขยายวงการคัดค้านอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีชาวอุทัยนับหมื่นร่วมลงมติค้าน แต่กรมป่าไม้เองก็เมินเฉย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำป่าและซุงถล่มที่ภาคใต้นำไปสู่การยกเลิกสัมปทานป่าทั่วประเทศ ป่าห้วยขาแข้งจึงรอดพ้นการทำลายจากการสัมปทานดังกล่าว

สถานการณ์ทำงานในป่าห้วยขาแข้งได้เริ่มเข้าสู่การรับรู้ของสาธารณะในสมัยหัวหน้าสืบ ในพ.ศ. 2532 การปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ที่ใหญ่โตกว่ากรุงเทพฯ อยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการ 12 คน และเจ้าหน้าที่ ร้อยกว่าคน ได้งบประมาณไร่ละไม่ถึงบาท ในขณะที่งบปลูกป่าในป่าเสื่อมโทรมสูงถึงพันบาท และคนที่นี่ทำงานเหมือนทหารออกรบที่ขาดยุทธปัจจัยทุกอย่าง มีอาวุธประจำกายเพียงลูกซองห้านัด ระยะหวังผล 9 เมตร ในขณะที่นักล่าสัตว์มีเอ็ม 16 ระยะหวังผล ครึ่งกิโลเมตร ยังมินับว่าขาดทั้งวิทยุสื่อสาร และรถ

เรื่องราวต่างๆ ของคุณสืบในช่วงนี้มีเผยแพร่เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางอยู่แล้วหลังจากคุณสืบเสียชีวิต รวมถึงการแปดเดือนของหัวหน้าสืบที่ทำงานหนักในการทำงานปกป้องสัตว์ป่า ปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่ขอบป่าที่เป็นรากสำคัญของการเข้าไปล่าสัตว์ตัดไม้ ร้านอาหารสัตว์ป่ารอบห้วยขาแข้งมีอาหารสัตว์ป่าไว้บริการลูกค้าทั้งปี มินับรวมการค้าเขากระทิง ควายป่า และซากสัตว์อื่นๆ ปัญหาอิทธิพลและการคอรัปชั่นภายในสังกัดของเขา และอิทธิพลจากนายทุนร่วมกับข้าราชการในพื้นที่ ระหว่างการทำงานที่นี่ลูกน้องหัวหน้าสืบถูกพรานยิงตายไปถึงสองคน สืบเดินทางประสานงานทั่วทิศเพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆเพื่อปกป้องป่า ทำงานเผยแพร่ความรู้กับเด็กและเยาวชนรอบป่าด้วยตัวเอง วิ่งเต้นหาแหล่งทุนส่วนตัวเพื่อเป็นสวัสดิภาพสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่ นำเสนอผลักดันแนวคิดเรื่องป่ากันชนป่าชุมชนให้ชาวบ้าน งานทั้งหมดสืบทำทุกอย่างตั้งแต่เช้ายันค่ำ บางครั้งเที่ยงคืนเขายังอุตสาห์ขับรถจากในเมืองเข้ามาในป่า ตื่นเช้ามืดมาเขียนเอกสารที่คั่งค้างไว้ พอรุ่งสางก็ขับรถออกไปตามโรงเรียนบรรยายให้นักเรียนฟังต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

“จะไม่มีใครต้องตายในเขตห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”

สืบเคยประกาศความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว แต่ในช่วงเวลานั้นการอนุรักษ์ป่าและการทำงานหนักแบบหัวหน้าสืบดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยและวงการราชการคุ้นเคย นอกจากเอกสารเสนอป่ามรดกโลกห้วยขาแข้งทุ่งใหญ่แล้ว แผนการจัดการพื้นที่ห้วยขาแข้งโดยคณะวนศาสตร์ก็ได้จัดทำสำเร็จในสมัยหัวหน้าสืบนี้เอง
 คัดลอกมาจากเว็ป http://www.seub.or.th

  22ปีผ่านไปแล้ว.... ปัญหาการบุกรุกป่ายังมี และเพิ่มมากขึ้น ขอไว้อาลัยให้แก่คุณสืบ นาคะเสถียรค่ะ

ออฟไลน์ อินทะเนียร์น้อย

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 6086
  • มงกุฎ: 3
    • ดูรายละเอียด
Re: 22ปี ที่จากไป สืบ นาคะเสถียร คนดีไม่
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 01, 2012, 08:23:08 PM »
ขอสดุดี ในความดี ความกล้า ความเสียสละ เพื่อประเทศชาติ ของ ท่าน สืบ นาคะเสถียร ครับ  พี่น้อง   จบข่าว

ออฟไลน์ yommatood

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 178
  • มงกุฎ: 1
    • ดูรายละเอียด
Re: 22ปี ที่จากไป สืบ นาคะเสถียร คนดีไม่ม�
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 26, 2012, 05:59:45 PM »
ป่าไม้โดนฮุบแทบจะหมดในอีกไม่กี่ปีแล้ว เห็นท่านยิ่งหลอกบอกจะปราบคอรัปชั่นขี่โกงทั้งหลาย แต่ไหงหัวหน้าอุทยานแถวกาญจน์ที่กำลังไล่บี้ยึดที่คืนจากนายทุนเพื่อนรัฐมนตรี จนเจอดีโดนเด้งไปซะงั้น...บรรลัยไส้